ชวนเที่ยว ภูฏานเมืองไทย

พ่อเมืองเลย ชวนเที่ยว “ภูฏานเมืองไทย” ชมประเพณีแห่ต้นดอกไม้ใหญ่ ช่วงสงกรานต์ ที่วัดโพธิ์ชัย

พ่อเมืองเลย ชวนเที่ยว “ภูฏานเมืองไทย” ชมงานแห่ต้นดอกไม้ใหญ่ ช่วงสงกรานต์ สานประเพณี 474 ปี ที่วัดโพธิ์ชัย เพื่อเป็นสิริมงคลปีใหม่ไทย 1 ปีมีครั้งเดียว พิธีเริ่มกลางคืน ชาวบ้านเชื่อทำให้อยู่ดีมีสุข ฝนตกตามฤดูกาล ให้เรือกสวนไร่นา อุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ วัว ควาย สัตว์เลี้ยงต่างๆ ขยายดอกออกผลสมบูรณ์


นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เชื่อว่านักท่องเที่ยวคงเดินทางกลับบ้านเยี่ยมญาติตามประเพณีปีใหม่ของไทย ซึ่งมีเพียง 1 ครั้งในหนึ่งปี แต่ที่อำนาแห้ว อำเภอไกลสุดของจังหวัดเลย ติดชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่เคยได้ชื่อว่า “ภูฏานเมืองไทย” ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ประชาชนดำเนิน วิถีชีวิตเรียบง่าย แบบชาวพุทธที่เคร่งครัด ไม่ฆ่าสัตว์ทุกชนิดในวันโกน และวันพระ แม้แต่ไข่ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งชีวิต ซึ่งประเพณีที่สำคัญมีเอกลักษณ์สืบทอดกันมายาวนาน นั่นคือ “ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ใหญ่” ที่ วัดศรีโพธิ์ชัย (แสงภา) ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย กำหนดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี แต่ถ้านักท่องเที่ยวพลาดในวันดังกล่าว ยังมีโอกาสชมอีก 3 ครั้งในวันที่ 19, 25 เมษายน และวันที่ 3 พฤษภาคม จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม การแห่ต้นดอกไม้สดที่สวยงามประดับด้วยแสงเทียนในช่วงเวลากลางคืนอย่างประทับใจ และปลอดภัย ทั้งนี้ จังหวัดเลย มีมาตรการควบคุมโรค และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 อย่างเข้มงวด “การ์ดไม่ตก”


นายสมบัติ ทิดชิด ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลแสงภา อดีตกำนันตำบลแสงภา กล่าวว่า บ้านแสงภา เป็น หมู่บ้านเล็ก ๆ เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอแห้ว ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธ เฉกเช่นชาวพุทธทั่วไป แต่เคร่งครัดถือศีล 5 ช่วงวันโกน และวันพระ จะละเว้นจากการกินเนื้อสัตว์ และการทำงานทุกอย่าง เพื่อเข้าวัด สำหรับ วัดศรีโพธิ์ชัย (แสงภา) ก่อสร้างขึ้นราวกว่า 474 ปี และการแห่ต้นดอกไม้ เริ่มมีการแห่มาตั้งแต่ก่อสร้างวัดแล้วเสร็จเป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 474 ปีมาแล้ว

โดยแรกเริ่มเดิมที เกิดจากความเชื่อว่าการนำดอกไม้มาบูชาพระ ในวันสงกรานต์ ซึ่งชาวไทยถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ถือว่าเป็นสิ่งอันเป็นมงคล การแห่ต้นดอกไม้ของชาวตำบลแสงภา ต้องแห่ตอนกลางคืน ราว 1 ทุ่ม-3 ทุ่ม และต้องมาแห่ที่วัดรอบพระอุโบสถเท่านั้น


สำหรับประเพณีนี้เริ่มจากการเก็บดอกไม้ ที่มีดอกไม้สดที่จากเป็นดอก ก็กลายมาเป็นช่อ และพัฒนามาเป็นพานพุ่มพานบายศรีขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ได้พัฒนาไปจนถึงการทำโครงสร้างด้วยไม้ไผ่ เป็นพานพุ่มขนาดเล็ก ใช้มือทำคนเดียว ต่อมาก็เริ่มใหญ่ขึ้นต้องใช้คนหาม 4 คน และจนถึงต้นดอกไม้ขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้คนหาม 6 คน, 8 คน และ 10 คน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้อยู่ดีมีสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้เรือกสวนไร่นา อุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ วัว ควาย สัตว์เลี้ยงต่างๆ ขยายดอกออกผลสมบูรณ์ เกิดเป็นสิริมงคลแก่ทั้งตนเอง ญาติๆ และชาวบ้านคนอื่นๆ เทศกาลแห่ต้นดอกไม้มีการแห่ทุกปี เริ่มจากวันสรงน้ำพระพุทธรูป (ช่วงวันสงกรานต์) เริ่มจากวันที่ 13 เมษายน โดยหลักปฏิบัติ แต่ปัจจุบันนี้จะเริ่มแห่ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน และจะมีการแห่ต้นดอกไม้ทุกคืนวันพระ ตลอดเดือนเมษายน ของทุกปี.

ต้นฉบับข่าว https://www.dailynews.co.th/article/834717 ENT.TODAY